รณรงค์เล่นสงกรานต์อย่างปลอดภัย

          นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชนและประชาชนที่มีต่อ “ประเพณีสงกรานต์ ปี 2567 หลังจากได้ขึ้นทะเบียนยูเนสโกเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 18,623 คน ครอบคลุมทุกภูมิภาค หนึ่งในคำถาม พบว่า เด็ก เยาวชน และประชาชน ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางในการจัดงานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2567 โดยให้สอดคล้องกับแนวคิด กับการจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 2567”

🔺เผย 3 อันดับแรก ต่อการจัดงานประเพณีสงกรานต์ 2567

อันดับ 1 ร้อยละ 68.29 ให้พิจารณาจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ที่เป็นการสร้างการรับรู้ต่อประชาชนชาวไทยและนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยได้รับการประกาศจาก UNESCO

อันดับ 2 ร้อยละ 53.46 ให้พิจารณาจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ โดยเน้นเรื่องคุณค่าและสาระที่ถูกต้องของวัฒนธรรม ประเพณี

อันดับ 3 ร้อยละ 51.45 ส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆ ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมในประเพณีสงกรานต์ เพื่อร่วมกัน สืบสานประเพณีที่ดีงาม เหมาะสม

🔺สิ่งที่ประชาชน-เยาวชน อยากเห็นในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ผลสำรวจยังระบุ สิ่งที่อยากฝากถึงกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริม อนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์ให้ดียิ่งขึ้น

• มีข้อเสนอแนะให้มีการรณรงค์ให้เหล่าคนดัง ๆ แต่งกายเล่นน้ำสงกรานต์ด้วยชุดไทย ผ้าท้องถิ่นแบบต่าง ๆ

• รณรงค์การเล่นน้ำสงกรานต์โดยไม่ใช้ความรุนแรง

• การไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และการไม่ล่วงละเมิดทางเพศ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์

• เน้นการจัดประเพณีสงกรานต์แบบโบราณ ประเพณีย้อนยุคเพื่อรำลึกวัฒนธรรมเก่าแก่ของไทย

• เน้นการละเล่นสงกรานต์ที่เป็นเชิงสร้างสรรค์ อนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามและทรงคุณค่าไว้ให้ชนรุ่นหลัง

• ประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทาง เพื่อให้เข้าถึงประชาชน และนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ให้ทราบถึงกิจกรรมต่างๆ ที่จะจัดขึ้น

🔺เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้นเหตุความรุนแรง-อุบัติเหตุ

สอดรับกับ นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เทศกาลสงกรานต์ของไทยเป็นเทศกาลที่เน้นความสนุกสนาน และมักจะมีการสังสรรค์ด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นสาเหตุหลัก ที่ก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงต่าง ๆ ตามมา รวมถึงปัญหาการคุกคามทางเพศ

จากข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อเทศกาลสงกรานต์ 2567 พบว่า กลุ่มที่เคยเล่นสงกรานต์ส่วนใหญ่เคยเจอสถานการณ์ถูกประแป้งที่ใบหน้า ร้อยละ 57.79 ถูกฉวยโอกาสแต๊ะอั๋ง/ลวนลาม ร้อยละ 32.43 และเด็กกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี เคยถูกประแป้งที่ใบหน้ามากที่สุด ร้อยละ 76.77 โดยพฤติกรรมการฉวยโอกาสแต๊ะอั๋ง/ลวนลามที่พบมากที่สุด คือ ถูกจับมือ/แขน/เบียดเสียด ร้อยละ 61.45 และกลุ่มตัวอย่าง รับรู้ ว่าการถูกลวนลาม/คุกคามทางเพศถือว่าเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญา ร้อยละ 92.10

🔺รัฐบาลขอความร่วมมือ รณรงค์เล่นสงกรานต์อย่างปลอดภัย

• ช่วยกันสอดส่องดูแล และมีจิตสำนึกที่ดีในการเล่นน้ำสงกรานต์ ร่วมเล่นน้ำสงกรานต์แบบขนบธรรมเนียมประเพณีไทยดั้งเดิม เพื่อสืบสานวัฒนธรรมที่ดีไว้อย่างต่อเนื่อง

• ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมประเพณีสงกรานต์จำนวนมาก เรื่องของการให้เกียรติ ความเท่าเทียม รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

• ขอให้เคารพ ให้เกียรติ ในสิทธิเนื้อตัวร่างกายความยินยอมพร้อมใจของผู้อื่น ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม หรือคุกคามทางเพศ และไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ

🔺วธ.ตั้งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ช่วงเทศกาลสงกรานต์

กระทรวงวัฒนธรรม จัดงานประเพณีสงกรานต์ ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่าง ๆ มุ่งเน้นกิจกรรมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม พร้อมรณรงค์เรื่องความปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย

• ให้กองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขึ้นที่กระทรวงฯ

• ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 21 เมษายน 2567

• ให้กองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สวจ.แต่ละจังหวัด ร่วมกับฝ่ายความมั่นคงติดตาม จับตา ตรวจสอบ และรับแจ้งเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย

• หากมีการกระทำความผิดจะเร่งรัดให้ดำเนินคดีตามกฎหมายทันที

• รวมทั้งให้ สวจ.ทุกจังหวัดรายงานข้อมูลแต่ละวันมายังศูนย์เฝ้าระวังฯ ด้วย

🔺พฤติกรรมควรละเว้นในเทศกาลสงกรานต์ : ผิดกฎหมาย

• ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาที่กำหนด (ขายได้เวลา 11.00-14.00 น. และเวลา 17.00-24.00 น. เท่านั้น)

• ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี

• ห้ามขับขี่รถในขณะเมาสุรา โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพักใช้ใบอนุญาตขับรถ

• ห้ามโป๊เปลือยในที่สาธารณะ หากใครกระทำการอันควรให้ขายหน้าต่อธารกำนัล โดยเปลือย หรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่น มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

• กระทำการในลักษณะคุกคามทางเพศ อาจมีความผิดฐานอนาจาร โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท

• งดเล่นแป้ง, งดเล่นปืนฉีดน้ำแรงดันสูง

• สาดน้ำไปถูกคนที่ไม่ยินยอม หรือสาดน้ำจนผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ระวังถูกดำเนินคดี ฐานทำร้ายร่างกาย โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

• กรณีมีทรัพย์สินได้รับความเสียหาย เช่น โทรศัพท์เปียกน้ำจนไม่สามารถใช้งานได้ ก็อาจจะได้รับโทษ ฐานทำให้เสียทรัพย์ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                                       


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
ข่าววิ่ง